ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

ที่ตั้ง โรงเรียนบ้านท่าประดู่  ตั้งอยู่  ณ บ้านท่าประดู่  เลขที่  237 หมู่ที่ 7 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด  จังหวัดตราด  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองตราด  และศาลากลางจังหวัดตราด   ประมาณ  15  กิโลเมตร

การก่อตั้ง        
โรงเรียนบ้านท่าประดู่  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 นำโดย นายชิต  นวเกษร และ นายยม  เงาฉาย  ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน  ปัจจุบันทั้ง 2 ท่าน  ได้ถึงแก่กรรมแล้ว  เหตุที่สร้างโรงเรียนเพราะ
ในหมู่บ้านท่าประดู่   ไม่มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา เด็กๆ ในหมู่บ้านต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนอื่นๆ ซึ่งมีระยะทางไกลหรือ   ไม่ก็ต้องไปอาศัยที่พักของผู้อื่นแล้วแต่จะสะดวกผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 ท่านได้ร่วมมือ
กับราษฎรในท้องที่สร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น  และขอครูจากอำเภอเมืองตราดมาทำการสอน

 

พ.ศ. 2519  นายชิต  นวเกษร  ได้อุทิศที่ดินในกรรมสิทธิ์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียน  เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน  47.2  ตารางวา

          พ.ศ. 2541  นางเชื้อ  จั่นสังข์  และ  นายพิชัย  นวเกษร  ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียน       รวม  3  งาน  46  ตารางวา 

          เมื่อวันที่ 20  กรกฎาคม  2553  นางเชื้อ  จั่นสังข์  บริจาคที่ดินเพิ่มอีก  1  งาน  69  ตารางวา    ในการบริจาคที่ดินครั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติระเบียบ  บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546  ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล อสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้บริจาค        จึงจดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนโดยตรง

          ฉะนั้นที่ดินแปลงที่  นางเชื้อ จั่นสังข์  บริจาคให้กับโรงเรียนบ้านท่าประดู่  จึงเป็นที่ดินของ
โรงเรียนบ้านท่าประดู่ โดยมี นายกมล  ทนทาน  ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้รับมอบในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าประดู่  ปัจจุบันโรงเรียนมีพื้นที่รวม  5  ไร่  2  งาน  62.2  ตารางวา

การจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านท่าประดู่

          พ.ศ.  2482               เปิดสอนชั้น  ป.1– ป.4

          พ.ศ.  2518               เปิดการศึกษาภาคบังคับ  ป.5

          พ.ศ.  2520               เปิดการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น  ป.7

          พ.ศ.  2537               เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษา  (อนุบาล 1)

          พ.ศ.  2540               เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษา  อนุบาล  3  ขวบ

 

การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

          ปลายปีการศึกษา  2520  กระทรวงศึกษาธิการ  ได้เปลี่ยนระบบและปรับปรุงการศึกษาใหม่               โดยลดการศึกษาภาคบังคับจาก  ป.7  คงเหลือแค่ชั้น  ป.6   นักเรียนที่จบ  ป.7  ต้องเข้าศึกษาต่อ ชั้น ม.ศ.1  และ นักเรียนที่จบ ป.6  ต้องเข้าศึกษาต่อ ชั้น ม.1

          พ.ศ.  2521  หลักสูตรใหม่  เริ่มใช้  ป.1  จนถึง  ป.6  พ.ศ.  2526

          พ.ศ.  2534  หลักสูตรประถมศึกษา  พ.ศ.  2521  (ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. 2533)

          พ.ศ.  2541  กระทรวงศึกษาธิการ  ไม่มีนโยบายรับนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา  อนุบาล  3  ขวบ  แต่โรงเรียนได้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดการศึกษาระดับนี้ต่อ  โดยจ้างครูมาทำการสอน

          พ.ศ. 2549  องค์การบริหารส่วนตำบลวังกระแจะ เปิด “ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าประดู่ ”  โดยรับเด็กปฐมวัยอายุ 2 – 3 ขวบ  เข้าเรียน  โดยโรงเรียนอนุญาตให้ใช้ห้องเรียนเดิมดำเนินการต่อไป                และจ้างครูพี่เลี้ยงเพื่อดูแลเด็ก  จำนวน  2  คน

          พ.ศ. 2551 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

การจัดการเรียนการสอน โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 ถึง                  
 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน
108 คน เป็นนักเรียนชาย 44 คน นักเรียนหญิง 64 คน

 

2.สภาพเขตพื้นที่บริการ                                                                                   
2.1 สภาพภูมิศาสตร์ โรงเรียนบ้านท่าประดู่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวังกระแจะ    อำเภอเมือง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมือง 5 กิโลเมตร มีระยะทางห่างจากสำนักงาน     เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด เขต 1 ระยะทาง 8 กิโลเมตร สภาพชุมชนโดยรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมกึ่งอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่    มีประชากรประมาณ 655 คน บริเวณโดยรอบใกล้เคียงโรงเรียน ได้แก่ ร้านค้า บ้านเรือนผู้ปกครอง อาชีพหลักของชุมชน คือ ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม รับจ้างทั่วไป เกษตรกรรม ค้าขาย เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม                                                                              โรงเรียนบ้านท่าประดู่ อยู่ใกล้โบราณสถานลายพระหัตถ์ ได้รับการส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ตั้งอยู่ภายในบ้านท่าประดู่  ได้รับการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา                                                               
2.2 เขตบริการ โรงเรียนบ้านท่าประดู่ มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารการจัดการศึกษา ให้บริการประชากรวัยเรียนและชุมชนในเขตบริการซึ่งครอบคลุมหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าประดู่  หมู่ที่ 7     ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ จบการศึกษาภาคบังคับ เศรษฐกิจของชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ทำงาน รับจ้างทั่วไป ค้าขาย เกษตรกรรม มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนมากมีฐานะยากจน เด็กจะอาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออยู่กับญาติ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลเอาใจใส่เพราะต้องประกอบอาชีพ บางส่วนยังขาดความตระหนักในการศึกษาของบุตรหลาน มีปัญหาครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง หรือเสียชีวิต ชุมชนเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของสิ่งเสพติด และการพนัน                                
2.3 สภาพการคมนาคม สามารถเดินทางได้ทางบกโดยใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์               
2.4 ด้านเศรษฐกิจ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ จบการศึกษาภาคบังคับ อาชีพหลัก คือ รับจ้างทั่วไป เกษตรกรรม ค้าขาย